ช่วงที่ผ่านมาเชื่อว่าผู้คนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง โดยเฉพาะเรื่องการบ้านการเมือง ดูเหมือนจะเข้าสู่สภาวะเครียดกันถ้วนหน้า !

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยภาวะของความตึงเครียด การโต้ตอบแบบรุนแรง หยาบคาย เกลียดชัง ก้าวร้าว ฯลฯ สรุปก็คือเป็นภาวะของการใช้ Hate Speech กันอย่างเต็มที่

Hate speech (ประทุษวาจา) การพูดหรือการสื่อความหมายที่สร้างความเกลียดชังระหว่างกลุ่มคนในสังคมคือ การแสดงออกด้วย “คำพูด” หรือ “วิธีการอื่นใด” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อโจมตีกลุ่มบุคคลหรือปัจเจกบุคคล โดยมุ่งไปที่ฐานของอัตลักษณ์ซึ่งอาจจะติดตัวมาแต่ดั้งเดิม หรือเกิดขึ้นภายหลังก็ได้ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว สถานที่เกิด/ที่อยู่อาศัย อุดมการณ์ทางการเมือง อาชีพ หรือลักษณะอื่นที่สามารถทำให้ถูกแบ่งแยกได้ การแสดงความเกลียดชังที่ปรากฏอาจเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรี หรือลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ หรือยุยงส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชัง ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงด้วยก็ได้

และที่เพิ่มเติมตามโลกเทคโนโลยีก็คือ “ความเกลียดชังบนออนไลน์” 

ยิ่งการเมืองร้อน เรื่องHate Speech บนโลกออนไลน์ ก็ยิ่งเผ็ดร้อน เผยแพร่เร็ว และกลายเป็นความรุนแรงบนโลกออนไลน์ 

เพราะนอกจากจะเป็นความรุนแรงระดับบุคคลที่แสดงความเห็นและความรู้สึกผ่านเฟสบุ๊ค อินสตราแกรม ฯลฯ กลายเป็นว่า สื่อหลักหรืออาจจะเรียกว่าสื่อดั้งเดิมก็นำไปขยายประเด็นเพิ่มเติมเข้าไปอีกจึงเกิดเป็นค่านิยม และทัศนคติใหม่ว่า ถ้าอยากดัง ต้องโพสต์แรงๆ ปังๆ จะได้ถูกสื่อหลักนำไปขยายความต่อ 

สุดท้ายโลกออนไลน์ก็กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อ “ความรุนแรง”

แล้วลองคิดภาพว่าเด็กและเยาวชนต้องเติบโตขึ้นมาในสังคมยุค Hate Speech ?

เติบโตขึ้นมาท่ามกลางสภาพสังคมไทยที่แบ่งขั้วชัดเจน และมีการใช้ภาษาที่แสดงออกถึงความขัดแย้ง จนไปถึงการใช้ความรุนแรงทางภาษา

อย่าว่าแต่เด็กและเยาวชนเลยที่เกิดคำถามมากมายท่ามกลางบรรยากาศการความขัดแย้ง แม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ก็อึดอัดคับข้องใจมิใช่หรือ !

ที่อยากจะเน้นเรื่องคำพูดก็เนื่องเพราะเป็นห่วงเด็กและเยาวชนไทยที่ต้องเสพรับสื่อต่าง ๆ เหล่านี้รอบตัวอยู่ทุกวี่วัน ทั้งจากพ่อแม่หรือครอบครัวที่มีอารมณ์ร่วมในการชอบหรือไม่ชอบทางการเมือง ชอบหรือไม่ชอบบุคคล ที่อาจมีการวิพากษ์วิจารณ์โดยขาดความระมัดระวัง หรือใช้ถ้อยคำหยาบคายก็มีไม่น้อย

แม้แต่สื่อในทุกช่องทางเองก็มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เน้นประเด็นเรื่องความขัดแย้งมากกว่าเนื้อหา หรือประเด็นที่แสดงถึงผลกระทบต่อข่าวสารชิ้นนั้นๆ 

เรียกว่า ในสถานการณ์ที่มีการแบ่งขั้วที่ชัดเจน ชอบหรือไม่ชอบอีกฝ่าย ทำให้ผู้คนมีอารมณ์ร่วมต่อสถานการณ์เป็นอย่างมาก และผลที่ตามมาคือไม่ได้นึกถึงผลกระทบที่เกิดกับลูกหลานของเรา หรือเด็กและเยาวชนที่ต้องเสพรับเอาอารมณ์ร่วมเหล่านั้นไปด้วย 

ประเด็น Hate Speech จําเป็นต้องได้รับความสนใจ เพราะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสังคมอาจเป็นการยั่วยุให้เกิดผลร้ายต่อผู้ใดผู้หนึ่งได้เลยทันทีหรือนําไปสู่ความรุนแรง เช่น การปลุกระดมให้เกลียดใคร ให้ทําร้ายร่างกาย หรือข่มขู่ นอกจากนี้หากปล่อยให้มี Hate Speech เกิดขึ้นจนชาชินคําพูดเหล่านี้ก็จะถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นหลัง ทําให้คนรุ่นหลังถูกปลูกฝังมาแบบผิดๆจนทำให้ความเคารพซึ่งกันและกันน้อยลง เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ และเกิดอคติขึ้นในสังคม 

ตอกย้ำอีกครั้งกับนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลี โดยDr.VittorioGallese, Dr.LeonardoFogassiและ Dr.GiacomoRizzolattiจากมหาวิทยาลัยพาร์มา ประเทศอิตาลี ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง “ทฤษฎีเซลล์กระจกเงา” มาจากการค้นพบเซลล์กระจกเงา (Mirror Neuron) คือการเชื่อมโยงทฤษฎีทางสมองกับการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กไทย โดยอธิบายไว้ว่าเซลล์กระจกเงาเป็นเซลล์ชนิดหนึ่งในสมองของมนุษย์ที่ทำหน้าที่เลียนแบบพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้อื่นมาเป็นพฤติกรรมของตนเอง เช่น พฤติกรรมของเด็กและเยาวชนเป็นผลมาจากเซลล์กระจกเงาไปลอกเลียนแบบพฤติกรรมตัวอย่างที่ได้พบเห็นในสังคม พัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กเล็ก ๆ เป็นผลมาจากการทำงานของเซลล์กระจกเงา ทำให้เด็กสามารถเข้าใจเจตนาที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำพูดของผู้พูดได้ เป็นต้น

หน้าที่ของเซลล์ชนิดนี้ ก็คือ “การลอกเลียนแบบ” เมื่อเราเห็นการกระทำของใครก็ตามที่แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายหรือเจตนาของการกระทำของคนนั้น จะกระตุ้นให้เซลล์ชนิดนี้เกิดการลอกเลียนแบบ หรือทำตามทั้งภายในสมองและพฤติกรรมการแสดงออกภายนอก กระบวนการเลียนแบบทั้งภายในสมองและท่าทางที่แสดงออกนี้ จะทำให้เราสามารถเข้าใจเจตนาในการกระทำของคน ๆ นั้นได้อย่างแจ่มชัด และความเข้าใจในเจตนาหรือท่าทีของผู้อื่น 

จึงทำให้ห่วงเด็กและเยาวชนในช่วงนี้มากเป็นพิเศษ

จริงอยู่เด็กเล็กจะมีพัฒนาการในเรื่องการพูด มาจากการสอนของพ่อแม่ โดยเด็กจะเลียนแบบการพูดของพ่อแม่เป็นหลัก ซึ่งเป็นพัฒนาการของเด็กตั้งแต่วัยเด็กเล็กจนถึงประถม เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ถ้าพ่อแม่พูดจาไพเราะ เด็กก็จะพูดไพเราะตามพ่อแม่ แต่ถ้าพ่อแม่พูดคำหยาบให้เด็กได้ยิน เด็กก็จะเลียนแบบเช่นกัน

ยิ่งถ้าเป็นช่วงวัยรุ่น สภาพร่างกายและจิตใจของกลุ่มวัยรุ่นมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านฮอร์โมน ทางกายวิภาคของสมอง และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กวัยรุ่นจึงมักหุนหันพลันแล่น และขาดความยับยั้งชั่งใจ เพราะสมองส่วนหน้าจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาที่ดี ที่ต้องอาศัยการเรียนรู้ ประสบการณ์ จนกว่าจะบรรลุวุฒิภาวะ

อยากจะเตือนพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงคนที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนก็ควรจะระมัดระวังในการใช้คำพูด หรือการสื่อสารในทุกช่องทางที่อย่าแค่เอามันส์ สะใจ คึกคะนอง หยาบคาย รุนแรง ฯลฯ เพราะผลกระทบก็ตกไปที่ลูกหลานของเราอยู่ดี 

ขัดแย้งกันได้ เห็นต่างกันได้ แต่แสดงออกอย่างสุภาพและเคารพกันดีกว่าไหม ?

สิ่งที่ควรสื่อสารกับลูกหลาน

หนึ่ง- บ้านต้องปลอด Hate Speech
เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าพ่อแม่ ผู้ปกครอง อยากให้ลูกเป็นอย่างไร ก็ต้องทำตัวแบบนั้น ซึ่งก็ต้องเริ่มจากพ่อแม่ผู้ปกครองก่อนที่ต้องปรับตัวปรับใจตัวเองให้ได้ก่อน แม้จะไม่เห็นด้วยกับบางสถานการณ์ ก็ไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยความรุนแรง ตรงกันข้าม พยายามชี้ให้ลูกเห็นว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากHate Speech จะนำไปสู่ความรุนแรงที่มากขึ้น อาจยกตัวอย่างบางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ลูกได้รับรู้ และชวนพูดคุยก็ได้ 

สิ่งที่ควรชี้ให้ลูกเห็นคือ การแสดงความคิดเห็นสามารถทำได้ เพียงแต่เราต้องไม่ใช้ Hate Speech ในทุกช่องทาง

สอง -เสพสื่ออย่างรู้เท่าทัน
ในยุคออนไลน์เต็มเมือง การใช้สื่อโซเชียลมีเดียยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะมีข้อมูลทั้งจริงและเท็จมากมาย ฉะนั้น ควรจะต้องรับข้อมูลแบบมีสติ ไม่แชร์ข้อมูลใด ๆ ที่ไม่แน่ใจหรือไม่มีที่มา เพียงแค่ไม่แน่ใจ ก็ไม่ควรส่งต่อข้อมูล เพราะอาจตกเป็นเครื่องมือของการส่งข่าวลวง อีกทั้งอาจผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็ได้

สาม -อย่าเครียดกับสถานการณ์

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองร้อนแรง สื่อสารมวลชนก็จะนำเสนอข่าวที่มีความหลากหลาย และมักนำข่าวสารที่มีเนื้อหาของความขัดแย้ง หรือบางคนนิยมใช้คำพูดจาเสียดสี ส่อเสียด หรือการนำเสนอข่าวปิงปอง ประเภทคนนั้นพูดแบบนี้ คนนี้โต้ตอบแบบนั้น คนที่เสพข่าวการเมืองบ่อย ๆ ก็อาจเครียดได้เช่นกัน ควรให้คำแนะนำลูกในเรื่องการรับรู้ข่าวสาร เพราะความเครียดอาจทำให้บรรยากาศ หรือความสัมพันธ์ภายในครอบครัวขัดแย้งได้

การเมืองเป็นเรื่องสำคัญ แต่การเมืองเป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” ของชีวิต ไม่ใช่ “ทั้งหมด” ของชีวิตอย่าทะเลาะกันเพราะการเมือง

สี่-ไม่ส่งต่อความรุนแรง 
กรณีที่เกิดขึ้นบ่อย คือ การแชร์เนื้อหาHate Speech ผ่านโลกออนไลน์เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะยิ่งส่งต่อHate Speechออกไป ก็เท่ากับเป็นการส่งต่อความรุนแรง รวมถึงต้องไม่ตอบสนองด้วยการกดไลค์หรือคอมเม้นท์ข้อความที่เป็น Hate Speechแม้จะเห็นด้วยก็ตาม 

ห้า- คิดก่อนโพสต์
ทุกครั้งที่คิดจะโพสต์บนโลกออนไลน์ ต้องตระหนักด้วยว่าจะไปกระทบผู้อื่นหรือไม่ อย่าโพสต์โดยใช้อารมณ์ ความคึกคะนอง และความรู้สึกเป็นตัวตั้ง แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งที่จะตามมาจากการโพสต์ข้อความด้วยว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่ม Hate Speech หรือไม่ และสิ่งที่เราโพสต์โดยไม่คิด ใครจะไปรู้ว่าวันหนึ่งโพสต์นั้นอาจกลับมาทำร้ายเราด้วยก็เป็นได้ 

ทุกวันนี้เรากำลังเผชิญกับสังคมที่เต็มไปด้วย Hate Speech แล้วเราคำนึงกันไหมว่ากำลังสร้างเด็กในยุคต่อไปแบบไหน เด็กที่โตขึ้นมาท่ามกลางความเกลียดชังชนิดแบ่งขั้วแบ่งข้างมาเกินทศวรรษจะเป็นผู้ใหญ่ในลักษณะไหน

จริงอยู่ โลกออนไลน์เป็น “โลกเสมือน” ไม่ใช่ “โลกจริง” การใช้ความรุนแรงอยู่ในโลกเสมือนไม่ได้ทำให้เกิดความรุนแรงในโลกจริงบนท้องถนน แต่อยากให้ช่วยคิดกันว่ามันจะเป็นเช่นนี้อยู่ตลอดไปหรือ ถ้าสักวันเกิดอุบัติเหตุที่การใช้ความรุนแรง “ข้ามเส้น” ก้าวจากบนจอลงมาบนถนนล่ะ เราจะอยู่กันอย่างไร

แม้จะเป็นคำถามที่หาคำตอบได้ยาก แต่จะให้เรานั่งนิ่งเฉยทำเสมือนไม่มีคำถามเลยคงไม่ถูก

และคำตอบที่ยากนั้นส่วนหนึ่งจะต้องมาจากพวกเราทุกคน

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก https://mgronline.com